จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ

Last updated: 12 เม.ย 2563  | 

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ

          มูลนิธิศิลปาชีพได้จัดนิทรรศการ      "จากขุนเขา...สู่ศิลปาชีพ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ เนื่อในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559  ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร   โดยมูลนิธิได้ทุ่มเทเตรียมงานนานถึง 2 ปี

นิทรรศการ "จากขุนเขา...สู่ศิลปาชีพ"   เป็นการนำศิลปะบนผืนผ้าที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขา 6 เผ่า  มาออกแบบจัดแสดงในลักษณะศิลปะสื่อผสมร่วมสมัย  สะท้อนภาพโครงการตามพระราชดำรินับร้อยโครงการที่พระราชทานแก่ชาวไทยภูเขามาอย่างต่อเนื่องในเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ

    คำบรรยายสั้น ๆ ในโบรชัวร์ของนิทรรศการที่เขียนถึงที่มาของการจัดงานครั้งนี้  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 11ตุลาคม  2559

เสียดายที่กว่าจะรู้ข่าวนิทรรศการนี้  งานก็จัดมาจนถึงอาทิตย์สุดท้ายแล้ว  และยิ่งเสียดายมากขึ้นเมื่อเริ่มเดินดูงาน   งานจัดได้ดีมากและแสดงออกถึงความทุ่มเทของผู้จัดจริง ๆ   ความจริงแล้วงานควรจะต้องใช้เวลาดูมากกว่านี้  และน่าจะต้องใช้เวลาดูหลายวันทีเดียว

 

  ภาพแรกที่เห็นตอนเดินเข้าห้องโถง  ก็ร้อง ว้าว! แล้ว  เพราะเป็นการนำเอาผ้าของชาวเขาทุกชนเผ่ามาประดิษฐ์เป็นภาพ  คล้าย ๆ กับงานควิลท์เลยทีเดียว  ซึ่งฉันมารู้ทีหลังว่าเป็นการทำศิลปะภาพนูนต่ำ(โอชิเอะ)

 

 สัญลักษณ์ประจำพระองค์คงจะทำจากเงิน  แต่ที่เหลือเป็นผ้าของชาวเขา  ซึ่งฉันได้มารู้ทีหลังว่างานนี้จัดโดยเจ้าหน้าที่ของศิลปาชีพทั้งหมด  โดยช่วยกันออกแบบแล้วนำมาทำเป็นชิ้นงานกันเอง  และงานที่แสดงทั้งหมดในงานเป็นงานที่ทำจากมือทั้งหมด

 
 

ในงานมีการแสดงเครื่องแต่งกายของแต่ละชนเผ่า  สวยงามอลังการทุกชุด  มีทั้งงานใหม่และงานโบราณ  เสียดายที่ไม่อาจเอามาลงได้ทุกชุด

 
 ภาพชีวิตของชาวเขามีทั้งงานปัก งานนูนต่ำ ที่เก๋ไก๋มากคือภาพมัว ๆ ด้านหลัง  ใช้ผ้าตาข่ายมาทับ  เป็นการสื่อถึงหมอกควันในภูเขา


 

 

ส่วนหนึ่งของงานมีการแสดงภาพถึงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์  เป็นการนำเอาภาพวาดของเจ้าหน้าที่ศิลปาชีพมาสร้างสรรค์ให้เป็นงานผ้าโดยใช้เทคนิคหลากหลายวิธี


          ในงานจะแบ่งออกเป็น 5 ชั้น  ชั้น 1-3 เป็นการแสดงงานของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ชั้น 4  เป็นการแสดงเครื่องแต่งกายของชาวเขาแต่ละเผ่า  ส่วนชั้น 5  มีการจำหน่ายผลงานของชาวเขาในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ  และมีเวิร์คชอปวิธีการทำงานแบบชาวเขาหลายอย่างหมุนเวียนกันไปทั้งการทอผ้าด้วยกี่เอว  การทำผ้าแถบแบบลีซู  การทำกระโปรงพลีตแบบม้ง .....ฯลฯ  


         ในระหว่างชั้นจะมีการโชว์ภาพปักที่ละเอียดมาก ๆ จนนึกว่าเป็นงานปักจักร  แต่ความจริงคืองานปักมือ  ที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเพียงงานขั้นประถม  นึกไม่ออกเลยว่างานระดับมหาวิทยาลัยจะขนาดไหน

          งานปักลูกเดือยแบบชาวกระเหรี่ยง  ฉันก็เพิ่งรู้ว่าเม็ดขาว ๆ นี้คือลูกเดือย ยังนึกว่าเป็นเปลือกหอยมาตั้งนาน

          การนำเอาผ้าชาวเขามาทำเป็นงานซิลปะที่ดูโมเดิร์นมาก  ผ้าแต่ละชิ้นสวยงามมากจริง ๆ 

          โต๊ะทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ซึ่งเป็นการนำของจริงมาจัดแสดง

          ในงานมีการสาธิตวิธีทำงานต่าง ๆ  โดยชาวเขาทั้ง 6 เผ่า  ได้แก่  กะเหรี่ยง  ม้ง ลาหู่(มูเซอ)  ลีซู(ลีซอ) เมี่ยน(เย้า)  อาข่า(อีก้อ)

            การเขียนเทียนเพื่อสร้างลวดลายก่อนจะนำไปย้อมครามแบบเย็น  แล้วต้มเพื่อล้างเทียนกออก  และนำมาปักหรือเย็บผ้าเพื่อตกแต่งลวดลายต่อไป  งานชิ้นใหญ่ขนาดนี้เฉพาะเขียนลายอย่างเดียวก็ทำมากว่าสัปดาห์แล้ว  ขายเพียง 5,000  บาท  ความจริงน่าจะเติมศูนย์เข้าไปอีกซักตัว

           ภาพสวย ๆ อธิบายถึงชนเผ่าต่าง ๆ 

           ชาวเขาเผ่าเย้ามาสาธิตวิธีทำงาน  แต่ที่น่าสนใจคือผ้านุ่ง สวยมาก

           สาธิตวิธีการทำเชือกและผ้าแถบของลีซู  ดูแล้วเราคงไม่สามารถอดทนทำได้ขนาดนี้แน่ ๆ 

          เสียดายที่งานจบไปแล้ว  ยังดูไม่ละเอียดเลย  แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ามีโครงการจะจัดแสดงทุกภาคทั่วประเทศ  และมาจัดแสดงที่กรุงเทพอีกครั้ง สำหรับคนที่สนใจอยากไปดู

          ลองติดตามข่าวสารได้ที่ facebook หรือ www.queengallery.org

          ข้าพระพุทธเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสองพระองค์ที่พระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขา  และอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาให้คงอยู่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้